พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย
พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย
พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย
ที่ตั้ง : 1873 ถนนพระรามที่ 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
ช่องทางการติดต่อ เว็บไซต์ http://museum.redcross.or.th
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/ThaiRedCrossMuseum/
โทรศัพท์ 02-250-1849 , 02-252-4329 ต่อ 119
โทรสาร 0-2250-1848
อีเมล์ [email protected]
การเดินทาง สาย ปอ.21, ปอ.16, ปอ.141, ปอ.177, ปอ.50, ปอ.4 รถธรรมดา 162, 163, 46, 47
หรือ ใช้บริการรถไฟใต้ดิน (MRT) ลงที่สถานีสามย่านทางออกที่ 2 แล้วเดินไปตามถนนพระรามที่ 4 ประมาณ 200 เมตร พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทยจะอยู่ทางซ้ายมือ
ค่าเดินทาง ไม่มี เพราะเดินเท้าจากจุฬาฯ
วันเวลาทำการ 8.30-16.00 ทุกวันจันทร์-ศุกร์
ค่าเข้าชม ฟรี
ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทยเป็นสถานที่ซึ่งจัดแสดงประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับกาชาดสากลและสภากาชาดไทย โดยนำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยตั้งอยู่ในสถานเสาวภา สภากาชาดไทย
เมื่อเดินเข้ามาเราก็จะเจอกับน้ำพุ แบบนี้
ให้เลี้ยวซ้าย เดินต่อมาเรื่อย ๆ อีกนิด ก็จะเจอกับป้าย พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย
และตึกที่เห็นข้างหลังสีขาว ๆ นู้นก็คือตัวพิพิธภัณฑ์นั่นเอง
ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์
ถึงแล้ว~~~ แต่ก่อนเข้าไปก็ต้องถอดรองเท้ากันก่อน เพื่อความสะอาด นะจ๊ะ ๆ
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งนิทรรศการออกเป็น 7 ส่วน ซึ่งใช้สีของรุ้ง เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย
ส่วนที่ 1 สีแดง สีของสภากาชาดไทย สื่อถึงอุณาโลม อันเป็นอุดมการณ์ของกาชาด (สมัยเริ่มก่อตั้ง สภากาชาดใช้ชื่อว่า สภาอุณาโลมแดง) จะจัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสภากาชาด กำเนิดกาชาดสากล สภากาชาดไทย และ สัญลักษณ์ของสภากาชาดไทย โดยเรียงตามลำดับเวลา ใช้สีสันน่าสนใจ มีภาพประกอบทำให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น
เดินอ่านประวัติไปเรื่อย ๆ ก็เจอเก้าอี้ตัวหนึ่ง พออ่านป้ายที่ติดไว้เลยได้รู้ว่าเป็นพระเก้าอี้ประจำตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย ภาพเล็ก ๆ ข้างกันนั้นเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระราชินีประทับพระเก้าอี้ในคราวที่เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานการประชุมกรรมการเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย ครั้งที่ 6/2499 วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2499
ถัดไปก็เป็นเนื้อหาประวัติศาสตร์ และจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยที่สภากาชาดใช้ชื่อว่า อุณาโลมแดง
ธงสภาอุณาโลมแดง
หีบล่วมยาสมัยอุณาโลมแดง
ส่วนที่ 2 สีแสด สื่อถึงพระอาทิตย์หรือพลังแห่งการรักษา จัดแสดงภารกิจของสภากาชาดไทยด้านการแพทย์ การพยาบาล และการให้การศึกษาด้านแพทย์และพยาบาล
รูปนางพยาบาลรุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตร เมื่อปีพ.ศ. 2458 จากโรงเรียนพยาบาลของสภากาชาดไทย
จะสังเกตเห็นว่าทุกคนใส่นาฬิกาบริเวณกึ่งกลางแขน(ไม่ใช่ข้อมือ)ข้างซ้าย สงสัยกับเพื่อนว่าจะเป็นเหมือนเครื่องประดับบอกยศมากกว่าดูเวลาหรือเปล่า
ถ้วยรางวัลการแข่งขันกีฬาของนักเรียนพยาบาล
ข้าง ๆ กันเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ใส่ชุดยุวกาชาดรูปแบบต่าง ๆ
ส่วนที่ 3 สีเหลือง สื่อถึงความนุ่มนวล จัดแสดงภารกิจการผลิตเซรุ่ม และวัคซีนเพื่อการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ
หนังสือคู่มือสมัยก่อน
ส่วนที่ 4 สีเขียว สื่อถึงการเจริญเติบโต ถือเป็นกำลังและอนาคตของชาติ แสดงภารกิจของมูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ส่วนที่ 5 สีน้ำเงิน สื่อถึงทรัพย์และการให้ จัดแสดงภารกิจของศูนย์รับบริจาคต่าง ๆ ของสภากาชาดไทย เช่น ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และยังมีการจัดแสดงเข็มและเหรียญเชิดชูต่าง ๆ
เข็มที่ระลึกมอบให้แก่ผู้มาบริจาคโลหิต ตามจำนวนครั้งที่มาบริจาค
ส่วนที่ 6 สีคราม สื่อถึงการให้ความช่วยเหลือของสภากาชาดไทยที่แพร่ไปทั่วโลก จัดแสดงภารกิจในด้านการบรรเทาทุกข์ของสภากาชาดไทย เหล่ากาชาดจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอ รวมถึงจัดแสดงเข็มต่าง ๆ คล้าย ๆ กับโซนก่อนหน้า
และส่วนสุดท้าย สีม่วง สื่อถึง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เป็นสีประจำวันประสูติของพระองค์ และจัดแสดงยกย่องผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สภากาชาดไทย
ภาพด้านบนนนี้ เป็นภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ขณะเดินชมอยู่ก็จะเห็นหุ่นใส่ชุดกาชาดแบบต่าง ๆ ประดับอยู่ทั่วทั้งห้อง
นอกจากจะเดินดูเฉย ๆ แล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ยังมีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ให้ทำอีกด้วย อย่างแรกเลยคือ... แต่นแตนแต๊นนนน
สมุดกิจกรรม กรรม กรรม
ข้างในจะมีคำถาม ปริศนาคำทายที่เกี่ยวกับสภากาชาดซึ่งคำตอบทั้งหมดสามารถหาได้ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ขุ่นเพื่อนกำลังขะมักเขม้นกับการหาคำตอบ
ส่วนตัวคิดว่าเหมาะสำหรับเด็ก ๆ แต่ทุกคนก็มีความเป็นเด็กอยู่ในตัวกันอยู่แล้วนี่นา ^^
ระหว่างที่เดินช่วยเพื่อนหาคำตอบก็เหลือบไปเห็นสีทอง ๆ บนโต๊ะ
ซูม ๆ ๆ ๆ ๆ…
พอถามพี่พนักงานก็ได้คำตอบมาว่าเป็นใบของต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งมีความเชื่อกันว่า เป็นต้นไม้ที่ให้ผลสำเร็จตามปรารถนา ทางสภากาชาดก็ได้จำลองต้นกัลปพฤกษ์ขึ้นมา โดยผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สามารถเขียนความรู้สึกหรือคำขออะไรก็ได้ลงบนใบต้นกัลปพฤกษ์นี้ แล้วนำไปแขวนไว้ที่ต้น ว่าแล้วก็เขียนสักหน่อย
ใกล้ ๆ ทางออกมีตู้ไม้ใหญ่ ๆ จัดแสดงสมาชิกของสภาอุณาโลมแดงในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5
นอกจากนิทรรศการตรงนี้แล้ว ทางสภากาชาดก็ได้จัดนิทรรศการออนไลน์ซึ่งเป็นโครงการนิทรรศการภาพถ่ายเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ไว้อีกด้วย ใครสนใจสามารถเข้าชมได้ที่ http://museum.redcross.or.th/archive/site/exhibition.php
ข้อคิดเห็น รู้สึกพื้นที่จัดแสดงมีขนาดเล็กกว่าที่คิด แต่ก็จัดได้น่าสนใจ พวกประวัติไม่ยาวเกินไป ตัวหนังสือใหญ่ อ่านง่าย การใช้สีในการแบ่งโซนทำให้นิทรรศการดูมีสีสันไม่น่าเบื่อ มีการเปิดวิดีทัศน์ในขณะเดินดูนิทรรศการ เป็นการสร้างบรรยากาศได้เหมาะสม พี่พนักงานใจดี แม้จะไม่ได้มาเดินบรรยายให้ฟังทั่วทั้งนิทรรศการแต่พี่เขาก็อยู่ใกล้ ๆ ส่วนใหญ่สงสัยอะไรก็ถามได้
สำหรับบริเวณใกล้เคียงมีดังนี้
1. จัตุรัสจามจุรี (Chamchuri Square)
2. คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. สถานเสาวภา
4. สวนงู
5. วัดหัวลำโพง
6. ร้านกาแฟ Too Fast To Sleep